วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์


การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในยุคไอที


การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ 
การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในยุคไอที
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 53
          ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากกระแสที่มาแรงทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ ณ วันนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบริการ WWW (World Wide Web) ได้ก้าวมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมถึงการถ่ายทอดวิชาความรู้ นับเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
article050153.jpg
          ประเทศไทยได้มีการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอนมาเป็นเวลานานพอสมควร โดยเริ่มต้นตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน วิชาคอมพิวเตอร์ ต่อมาได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอน ที่เรียกว่า สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI (Computer Aided Instruction) ปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งได้หันมาใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เรียกชื่อกันแตกต่างหลากหลาย เช่น WBI (Web Based Instruction) WBL (Web Based Learning) หรือ WBT (Web Based Training)  เป็นต้น ที่เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อรับส่งข้อมูล เนื้อหาความรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning (Electronis Learning) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ
          การเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning มีความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจน เช่น มีความยืดหยุ่น คือ ผู้สอนสามารถปรับปรุงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา และสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้เรียนที่สามารถเรียนได้โดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ โดยเฉพาะในปัจจุบันสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลดลง อีกทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะผู้เรียนสามารถเรียนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปสถานศึกษาหรือที่ทำงาน และที่สำคัญสามารถประเมินผลได้ทันทีว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้หรือไม่
          คุณภาพของการเรียนการสอนแบบ e-Learning นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างหลักสูตรหรือเนื้อหาที่ต้องเป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน เข้าใจง่าย ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องไปคิดพึ่งพาผู้สอน  ต้องให้ผู้เรียนได้อ่านและฝึกฝนตำราให้ครบตามแผนที่วางไว้ มีแบบทดสอบเพื่อวัดความเข้าใจทีละขั้นตอน จนแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจตามเนื้อหาจนครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักสูตร และหัวใจสำคัญที่สุดคือจะต้องมีการสื่อสาร 2 ทางระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเอง
          ถ้าพูดถึงการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์  คงไม่อาจมองข้ามศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO INNOTECH)  เพราะถือเป็นองค์กรที่สามารถสร้างและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ได้ในระดับมืออาชีพ และมีหลักสูตรที่หลากหลาย เช่น ICeXCELS, SUPEReXCELS, TECHeXCELS,  TEACHeXCELS  เป็นต้น
          “PEACeXCELS”  ก็เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ที่น่าสนใจ ที่ศูนย์ SEAMEO INNOTECH  กำลังจัดฝึกอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษาระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษาและผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมสันติวัฒนธรรม และการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลักสูตรนี้มีผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วม 3 คน คือ นายยุทธนา ศรีจำปา รองผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ นางมะลิ  พึ่งสถิตย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสุโขทัยโปลีเทคนิค จังหวัดสุโขทัย และนางฟาฏินา วงศ์เลขา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และลาว
          ในการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว ทางศูนย์ SEAMEO INNOTECH ได้ส่งรหัสประจำตัว (Password)  สำหรับเข้าสู่โปรแกรม i-FLEX  พร้อมเอกสาร และ VCD ประกอบการฝึกอบรมไปให้ทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้ล่วงหน้า   มีการติดต่อผ่านทางอีเมล์ (E-Mail: Electronics Mail)  เพื่อยืนยันความพร้อมเป็นระยะ ๆ  และมีการทดลองระบบก่อนมีการปฐมนิเทศสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม   โดยกำหนดให้มีการทำแบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อประเมินระดับความรู้  และทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดความก้าวหน้าหลังการเรียนจบในแต่ละเล่ม    ทั้งนี้ หลักสูตรกำหนดวันเวลาให้ทุกคนออนไลน์พร้อมกันภายใต้หัวข้อ MyChat สัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เพื่อร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่กำหนดในแต่ละสัปดาห์  โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มละ 10 คน  ซึ่งผู้ฝึกอบรมสามารถโต้ตอบกับอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มาจากประเทศต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์  อีกทั้งผู้ฝึกอบรมจะต้องมีส่วนร่วมในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ MyForum  ที่อาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นผู้กำหนดขึ้น  นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ  เช่น วีดิโอ  วารสาร  งานวิจัย  ความคิดเห็นของบุคคลต่าง ๆ  เป็นต้น  และที่สำคัญทุกคนจะต้องส่งการบ้านเมื่อเรียนจบแต่ละเล่มด้วย  สุดท้ายจะมีการประเมินผลว่าผู้เรียนจบหลักสูตรหรือไม่  โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของหลักสูตร PEACeXCELS  ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
          การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน  ทั้งในเรื่องของเวลา  สถานที่  และค่าใช้จ่ายที่ลดลง  จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับการศึกษาในยุคไอทีที่โลกไร้พรมแดน  ดังที่ปัจจุบันหลายประเทศได้พัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสื่อหลักสำหรับแทนครูในการสอนทางไกล  ด้วยแนวคิดที่ว่า e - Learning สามารถช่วยในการถ่ายทอดเนื้อหาได้ใกล้เคียงกับการสอนจริงของครูผู้สอนนั่นเอง

(ที่มา http://social.obec.go.th/node/79)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น